สวัสดีนักเดินทาง
เมืองสามหมอก หรือ แม่ฮ่องสอนที่หลายๆคนรู้จัก ที่มีธรรมชาติที่สวยงามและวัดวาอารามที่สวยงามที่รวมทั้งยังคงความเก่าแก่ทั้งทางวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตของคนท้องถิ่น แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเรา 2 สามีภรรยาได้จากที่นี้ต้องขอใช้คำธรรมดาว่า ความดิบ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ความสวยงามที่ไม่ได้รับการปรุงแต่งจากความสมัยใหม่มากเท่าไหร่ ทำให้เราได้สัมผัสกับความเป็นแม่ฮ่องสอนจริงๆ ไม่เหมือนใคร พวกเราชอบนะ…
แม่ฮ่องสอน – เมืองที่รายล้อมด้วยภูเขา สลับซับซ้อน ทอดขนานไปกับทิวเขาถนนธงชัยและทิวเขาแดนลาว และสำหรับสมุดภาพคราวนี้ เราจะพาไปเที่ยวที่อำเเภอเมืองแม่ฮ่องสอนในสไตล์ Be Traveler และบริเวณรอบตัวเมืองที่ไม่ไกลออกไปมากนัก
สถานที่แรก – สะพานซูตองเป้
สะพานไม้ไผ่ที่เกิดจากความศรัทธาและการร่วมแรงร่วมใจของพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านกุงไม้สัก ที่ช่วยกันสร้างขึ้นเพื่อได้ใช้สัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านและวัดได้สะดวกยิ่งขึ้น สะพานสร้างข้ามผ่านทุ่งนา ล้อมรอบด้วยหุบเขา ถือได้ว่า เป็นสะพานแห่งความศรัทธาของคนในท้องถิ่น กิจกรรมที่เห็นกันเป็นประจำทุกวันคือ การทำบัญใส่บาตรบนสะพานแห่งนี้ …
วันที่เราไปเป็นวันเด็กแห่งชาติ ก็เลยมีกิจกรรมของเด็กๆมาแสดงสร้างสีสันให้กับที่นี้อีก ท่ามกลางสายหมอกกับสีสันของชุดตระการตา…
เมื่อเดินข้ามสะพานมาก็จะพบกับ สวนธรรมภูสมะ : เป็นสถานที่พักสงฆ์ทั้งภิกษุและสามเณร บนดอยสวนธรรมภูสมะ ประดิษฐาน “พระเจ้าซูตองเป้” พระพุทธสามัคคีอธิษฐานมหาจักรพรรดิ์ มีสถานที่ปฏิบัติธรรม มี “เรือนเพาะธรรม” เป็นศาลามุงด้วยใบตองตึง ด้วยการออกแบบที่สวยงามตามแนวคิดของพระปลัดจิตตพัฒน์ อัคคปัญโญ ที่ประยุกต์ความโดดเด่นในเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
สถานที่ 2 – วัดหัวเวียงหรือวัดกลางเมือง ตั้งอยู่ที่ถนน สีหนาทบำรุง ตำบลจองคำ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2406 เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าพาราละแข่ง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประจำเมืองที่งดงามมาก มีประวัติว่าหล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” ซึ่งเป็นเจ้าพาราละแข่งองค์จริง ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า โดยลุงจองโพหย่า เดินทางไปนิมนต์มา พระเจ้าพาราละแข่งองค์นี้สร้างเป็นท่อนๆ ทั้งหมด 9 ท่อน ล่องมาตามแม่น้ำปาย แล้วนำมาประกอบที่วัดพระนอนและนำมาประดิษฐานที่วัดหัวเวียง หรือวัดกลางเมือง ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง ปัจจุบันวิหารที่ประดิษฐานพระเจ้าพาราละแข่งสร้างใหม่เสร็จเรียบร้อยและยังคงโครงสร้างของวิหารตามรูปแบบเดิมไว้
สถานที่ 3 – วัดจองคำและวัดจองกลางเปรียบเสมือนวัดแฝด ด้วยตั้งอยู่ในกำแพงเดียวกัน เมื่อมองจากด้านหน้า วัดจองคำ จะอยู่ด้านซ้ายมือ ส่วนวัดจองกลางจะอยู่ทางขวามือ วัดจองคำและวัดจองกลางตั้งอยู่กลางเมืองแม่ฮ่องสอน และ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองไทใหญ่แห่งนี้ เพราะนอกจากความงดงามทางศิลปะแล้ว วัดทั้งสอง ยังเป็น ศูนย์กลางของกิจกรรมทางวัฒนธรรม และประเพณีของชาวแม่ฮ่องสอน
วัดจองคำ หรือพระอารามหลวงวัดจองคำ วัดจองคำ ตั้งอยู่ข้างหนองน้ำ ซึ่งชาวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า”หนองจองคำ”เป็น วัดที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2340 เป็นวัดแรกของเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นวัดเก่าแก่สร้างตามแบบอย่างศิลปไทย ใหญสิ่งที่โดดเด่นหลังคาทรงประสาท 9 ชั้น และมีศาสนสถานที่สำคัญคือ วิหารหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูป องค์ใหญ่ที่สุดของแม่ฮ่องสอน สร้างเมื่อ พ.ศ.2477 โดยช่างชาวพม่าในวิหารเป็นที่ประดิษฐาน ของหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระประธาน มีขนาดหน้าตักกว้าง 4.85 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 โดยช่างฝีมือชาวพม่า และมีพระพุทธรูป ขนาดใหญ่ซึ่งจำลองมาจากพระศรีศากยมุนีที่วิหารวัดสุทัศน์ เหตุที่เรียกชื่อวัดจองคำ เนื่องจาก เสาวัดประดับ ด้วยทองคำเปลว
เจดีย์วัดจองคำ
ชาวไทยใหญ่เรียกว่า “กองมู” เจดีย์มีลักษณะคล้ายมณีทบ โดยช่างฝีมือชาวไทยใหญ่รูปทรงจุฬามณี ความสูง 32 ศอก ฐานสี่เหลี่ยมมีมุข 4 ด้าน พร้อมสิงห์ด้านละหนึ่งตัว ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งด้านละหนึ่งองค์และ เริ่มสร้าง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2456 สร้างแล้วเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ.2458 สร้างขึ้นโดยศรัทธาขุนเพียร (พ่อเลี้ยงจองนุ) พิรุญกิจและแม่จองเฮือนคหบดี ชาวแม่ฮ่องสอนและในองค์พระเจดีย์ได้บรรจุพระบรมสาีรีริกธาตุ ไว้ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ผู้ที่มานมัสการองค์พระเจดีย์
วิหารหลวงพ่อโต
ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน คือ “หลวงพ่อโต” สร้างเมื่อปี พ.ศ.2496 โดยช่างชาวพม่าเป็นพระพุทธรูป ขนาดใหญ่ มีขนาดหน้าตักกว้าง 4.85 ม. จำลองมาจาก พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม วิหารแห่งนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ผสมฝรั่ง
วัดจองกลาง
ภายในวิหารมีแท่นบูชาตั้งพระพุทธสิหิงค์จำลอง ปิดทองเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ มีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีกเช่น ตุ๊กตา แกะสลักด้วยไม้เป็นรูปคนและสัตว์เกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก ฝีมือแกะสลักของช่างชาวพม่า ซึ่งนำมาจากพม่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2400
นอกจากนี้ทางด้านจิตรกรรม ยังมีภาพวาดบนแผ่นกระจก เรื่องพระเวสสันดรชาดก และ ภาพประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ ตลอดจนภาพแสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยนั้นหลายภาพ มีคำ บรรยายใต้ภาพเป็นภาษาพม่า และมีบันทึกบอกไว้ว่าเป็นฝีมือของช่างไทยใหญ่จากมัณฑะเลย์
สถานที่ 4 – วัดก้ำก่อ (ก้ำก่อภาษาไทยใหญ่แปลว่า “ดอกบุนนาค”)ตามประวัติกล่าวว่าวัดก้ำก่อสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ . ศ 2433 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำเ เดือน 2 ปีขาล จ . ศ . 1252 โดยเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด นามว่า ‘’ ครูบาเฒ่า ‘’ ชาวไทใหญ่ผู้อพยพมาจากเมืองเชียงทอง เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดนี้ขึ้น ชาวบ้านทั่วไปขนานนามท่านว่า ‘’ ตุ๊เจ้าเจียงตอง ‘’ ( ออกเสียงตามภาษาพื้นเมือง ) หมายถึงพระที่มาจากเมืองเชียงของนั่นเอง
วัดก้ำก่อมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ คือมีการสร้างวัดโดยฝีมือของช่างชาวไทใหญ่ที่ได้เข้ามาอาศัยและได้ศรัทธาในวัดนี้ วัดก้ำก่อมีสิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่น คือมีซุ้มประตูทางเข้าไปสู่ศาลาการเปรียญ หรือที่เรียกว่า “ส่างหว่าง” เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอาคารทางพระพุทธศาสนาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนตามแบบสถาปัตยกรรมไต(ไทใหญ่) จะมีเฉพาะอาคารวัดเท่านั้นไม่มีในอาคารบ้านเรือนของชาวบ้านทั่ว ๆไป ในสมัยก่อนเมื่อจะเข้าไปในวัดชาวบ้านจะนิยมถอดรองเท้าไว้แล้วเดินเข้าวัดทาง “ส่างหว่าง” เนื่องจากเชื่อกันว่าถ้าสวมรองเท้าเข้าไปในวัดนอกจากจะไม่เคารพสถานที่แล้ว เวลาเดินออกจากวัดนั้นยังจะมีดินมีทรายติดรองเท้าไปด้วยถือว่าเป็นบาปมาก และเพื่อไม่ให้นำสิ่งสกปรก สิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลายเข้าไปในวัดและในขณะเดียวกันก็จะไม่เอาอะไรออกจากวัดไป
ภายในศาลาวัด มีความเก่าแก่ และยังคงความโบราณอยู่มาก เช่น เสาไม้แต่ละต้น แผ่นพื้นไม้ เป็นต้น
สถานที่ 5 – วัดพระนอน เดินข้ามจากวัดก้ำก่อเพียงข้ามถนนเท่านั้น ตั้งอยู่เชิงดอยกองมูสถาปัตยกรรมแบบพม่าที่ผสมผสานวัฒนธรรมชาวไทใหญ่ได้อย่างลงตัว เป็นที่ประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ สร้างด้วยศิลปะไทยใหญ่ และเป็นพระนอนองค์ขนาดยาว ๑๒ เมตร ซึ่งมีพุทธลักษณะงดงามมาก ตามประวัติเล่าว่าพระนาง เมี๊ยะ ภริยาของพระยาสิงหนาทราชาเป็นผู้สร้างขึ้น
สถานที่ 6 – พระธาตุดอยกองหมู ตั้งอยู่บนดอยกองมูทางทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน สามารถมองเห็นภูมิประเทศ และสภาพตัวเมืองแม่ฮ่องสอนได้อย่างชัดเจน และสวยงามมาก วัดนี้เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดปลายดอย เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญ ประกอบด้วยพระธาตุเจดีย์ที่สวยงาม 2 องค์ พระเจดีย์องค์ใหญ่สร้างโดย “จองต่องสู่” เมื่อ พ.ศ. 2403 เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระ ซึ่งนำมาจากประเทศพม่า ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์เล็กสร้างเมื่อ พ.ศ. 2417 โดย “พระยาสิงหนาทราชา” เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก
ที่พระธาตุดอยกองมูยังมีประเพณี ที่น่าสนใจอกีอย่างที่จะสังเกตุเห็นได้ง่าย คือ การที่นักท่องเที่ยวมักจะเดินอธิฐาน วนรอบพระธาตุด้วยสิ่งที่เรียกว่า ประเพณีการบูชาพระธาตุด้วยธาตุทั้ง4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เพื่อเป็นศิริมงคล พร้อมการถวายไม้ค้ำมงคล โดยเชื่อว่าเป็นการค้ำดวงชะตาชีวิต และการถวายไม้สะพาน โดยเชื่อว่า จะทำให้ผ่านอุปสรรคสู่ความสำเร็จ วนรอบ 3 รอบ แล้วนำไม้สะพานที่มีการตกแต่งด้วยดอกไม้ธูปเทียนไปวางตามพระพุทธรูปประจำวันเกิดของตัวเองรอบองค์พระธาตุ
นอกจากนี้ ที่นี้ยังเป็นที่ชมวิวที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะพระอาทิตย์ตก ก็จะได้เห็นแสงสุดท้ายของวันและวิวมุมสูงของแม่ฮ่องสอนเช่น สนามบินแม่ฮ่องสอน ที่เราจะได้เห็นเครื่องบิน ขึ้นลง ได้ชัดเจน ยังมองเห็นพระธาตุจองคำ ตลาดสายหยุด ตลาดสดกลางเมือง ที่ว่าการอำเภอ เทศบาล วัดหัวเวียง โรงพยาบาลศรีสังวาลย์
พระธาตุดอยกองหมู ยามค่ำคืน ก็สวยงาม มือใหม่หัดถ่ายก็ได้ฝึกมืออีกด้วย…
เมื่อแสงพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าลง กิจกรรมต่อไปก็คือ เดินเล่นที่ สถานที่ 7 ถนนคนเดินแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ ฝั่งริมวัดจองกลาง-จองคำ เปิดตั้งแต่เวลา 17.00 – 22.00 ในหน้าหนาวก็เปิดกันทุกวันไม่มีหยุด แต่หากเป็น หน้าร้อนก็เฉพาะวันศุกร์เสาร์ ซึ่งนอกจากจะได้เดินถนนคนเดินก็จะได้เดินดูสีสันของวัดจองกลางและวัดจองคำ อีกด้วย
ข้าวปุกงา – มาแล้วต้องกิน อร่อยดีขนมพื้นเมือง
ปากหม้อชายเดียว — อร่อยหรือป่าว ไม่ต้องบรรยายคิวยาวมาก ซื้อแล้วซื้ออีก 55+
เริ่มหิว ก็มานั่งบริเวณที่จัดเป็นโต๊ะนั่งกินมองวิววัดจองคำ วัดจองกลาง
— ไส้ย่าง หมูย่าง อากาศหนาวๆ ข้างเหนียวอุ่นๆ
ปิดท้าย ทริปเมืองแม่ฮ่องสอนด้วย ภาพสีสันของแสงไฟของวัดจองคำและวัดจองกลาง ริมหนองน้ำกลางเมืองแม่ฮ่องสอน
สำหรับที่พักอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน —–
เฟิร์นริมธาร รีสอร์ท แม่ฮ่องสอน
สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน —-
ปางอุ๋ง โครงการของพ่อ…
บ้านพักของโครงการพระราชดำริ ปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)
เยือนถิ่นยูนนาน หมู่บ้านรักไทย (แม่ฮ่องสอน)
จุดชมวิวทะเลหมอกหยุนไหล (อ.ปาย)
ร้านอาหารแนะนำ —–
ร้านอาหารลาบเป็ดชายทุ่ง แม่ฮ่องสอน
ชิมอาหารจีนยูนนาน ร้านลีไวน์รักไทย (แม่ฮ่องสอน)
ขอบคุณสำหรับการติดตาม